Key Takeaway

  • Blue Zone คือพื้นที่ที่มีประชากรอายุยืนยาว และมีสุขภาพดี โดยมีวิถีชีวิตที่สนับสนุนความยั่งยืนของสุขภาพและอายุขัย โดย 5 เมืองที่เป็นพื้นที่ Blue Zone ได้แก่ โอกินาวา (ญี่ปุ่น) ซาร์ดิเนีย (อิตาลี) อิคาเรีย (กรีซ) โลมา ลินดา (สหรัฐอเมริกา) และนิโคยา (คอสตาริกา) 
  • เคล็ดลับการดูแลสุขภาพแบบคนใน Blue Zone คือการกินอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี การจัดการความเครียด มองโลกในแง่ดี และการตั้งจุดมุ่งหมายในชีวิต
  • นอกจากนี้ เคล็ดลับการดูแลสุขภาพที่สำคัญคือการพาตัวเองไปเจอแสงแดดบ้าง นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย และอาจส่งผลต่อสุขภาพด้านจิตใจได้ในอนาคต 

วิธีการดูแลสุขภาพด้วยหลักการจาก ‘Blue Zone’ หรือพื้นที่ที่ผู้คนมีอายุยืนที่สุดในโลก เรียนรู้ 9 กฎสุขภาพดี ตั้งแต่การกินอาหาร การออกกำลังกาย การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย 

รู้จัก ‘Blue Zone’ ทำไมคนในพื้นที่นี้ถึงมีชีวิตยืนยาว?

คำว่า ‘Blue Zone’ หรือโซนสีฟ้า หมายถึงพื้นที่ที่มีผู้คนอายุยืน และสุขภาพดีกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป คือมีอายุประมาณ 90-100 ปี2 โดยมีที่มาจากการตั้งข้อสังเกตของ Dan Buettner ซึ่งเป็นนักสำรวจ นักเขียน และช่างภาพ จาก National Geographic 

ในงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษากลุ่มประชากรที่มีอายุยืนทั่วโลกของ Gianni Pes และ Michel Poulain1 จึงทำให้เขาเริ่มโครงการออกเดินทางไปสำรวจวิถีชีวิตของคนในพื้นที่เหล่านี้ในปี 2004 หลังจากการสำรวจที่โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ในปี 20003

ตัวอย่าง 5 เมืองใน Blue Zone ได้แก่ 

  • โอกินาวา (ญี่ปุ่น) 
  • ซาร์ดิเนีย (อิตาลี) 
  • อิคาเรีย (กรีซ) 
  • โลมา ลินดา (สหรัฐอเมริกา) 
  • นิโคยา (คอสตาริกา) 

ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ มีวัฒนธรรม และพฤติกรรมที่ส่งเสริมการมีสุขภาพดี และอายุยืนยาวที่คล้ายคลึงกัน เช่น การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และการมีความสัมพันธ์ที่ดีทางสังคม

9 เคล็ดลับวิธีการดูแลสุขภาพแบบคนใน Blue Zone

9 เคล็ดลับวิธีการดูแลสุขภาพแบบคนใน Blue Zone 

ลองเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของคุณ เพื่อให้มีสุขภาพดี และอายุยืนยาว ด้วยเคล็ดลับจากคนใน Blue Zone ดังนี้

1. ปรับเปลี่ยนการกินอาหาร

อาหารเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับทุกคน เพราะอาหารเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับสุขภาพโดยตรง เพื่อการกินอาหารที่สมดุล ควรลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ไข่ และนม ลดการบริโภคน้ำตาล เน้นอาหารแพลนต์เบส (Plant-Based) ผัก ผลไม้ (ยกเว้นมันฝรั่ง) และอาหารจากธรรมชาติ กินถั่วทุกวัน และเลือกกินขนมปังชนิดโฮลวีต5

จากการศึกษาวิถีชีวิตของคนใน Blue Zone จะพบว่า แต่ละพื้นที่จะมีเคล็ดลับในการกินอาหารที่ต่างกัน4 ดังนี้

กินให้อิ่ม 80% : เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น 

ชาวโอกินาวาส่วนใหญ่จะกินอาหารให้รู้สึกอิ่มแค่ 80% โดยจะเน้นไปที่อาหารจำพวกผัก ปลา และอาหารทะเล รวมถึงอาหารที่ทำมาจากถั่วเหลือง เช่น ซอสถั่วเหลือง ซุปมิโซะ เต้าหู้ เต้าเจี้ยว และถั่วหมัก อีกทั้งยังดื่มน้ำต่อวันมากกว่า 2 ลิตร

ดื่มนมแพะ ชา ไวน์ : เกาะอิคาเรีย ประเทศกรีซ 

โดยทั่วไปชาวอิคาเรียนมักกินพืชประเภทฟัก และผักใบเขียว ที่ปลูกเองตามบ้านเรือน เน้นดื่มนมแพะมากกว่านมวัว รวมถึงยังมีการดื่มชา และไวน์สูตรเฉพาะที่อิคาเรีย เพราะเป็นเครื่องดื่มที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะชอบกินน้ำผึ้งครั้งละ 1 ช้อน ในช่วงตอนเช้า และตอนเย็นด้วย 

ไม่กินอาหารแปรรูป : คาบสมุทรนิโคยา ประเทศคอสตาริกา 

คนในพื้นที่นี้นิยมกินข้าวโพด และถั่ว โดยไม่นิยมกินอาหารจำพวกแปรรูป จำกัดการกินอาหารมื้อเย็นในปริมาณน้อย โดยเป็นวัฒนธรรมการกินที่มาจากชนเผ่าตั้งแต่สมัยโบราณ อีกทั้งยังดื่มน้ำในปริมาณมาก ซึ่งน้ำในแถบนิโคยาจะมีแคลเซียมสูง จึงช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยที่มาจากกระดูกได้

กินถั่ววันละ 1 กำมือ : โลมา ลินดา ประเทศสหรัฐอเมริกา 

โลมา ลินดา เมืองในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีวิถีชีวิตแบบชาวเมือง แต่กินเนื้อหมู และเนื้อวัว เฉลี่ยไม่เกินเดือนละ 2 ครั้ง หรือบางครั้งก็ไม่กินเลย มักกินอาหารที่มาจากพืช โปรตีนถั่ว ถั่วเปลือกแข็ง เช่น วอลนัท และอัลมอนด์ วันละ 1 กำมือ ไม่กินอาหารที่มีรสเค็ม และรสหวานจัดเกินไป 

เน้นปลาและผัก : ซาร์ดิเนีย ประเทศอิตาลี 

คนที่ซาร์ดิเนีย เป็นชาวเกาะที่กินอาหารสไตล์เมดิเตอร์เรเนียน โดยเลือกกินเนื้อสัตว์ที่ไม่มีขา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อปลา หรือกินสัตว์ที่มีขาน้อยที่สุด อย่างเช่น สัตว์ปีก เพราะมีความเชื่อว่า การกินเนื้อหมู และเนื้อวัว จะทำให้มีสารพิษเข้าไปในร่างกายได้ 

เน้นการปรุงอาหารโดยใช้น้ำมันมะกอก และน้ำมันจากถั่วเปลือกแข็ง ที่มีวิตามินอีสูง มีไขมันอิ่มตัว ที่ช่วยให้ระดับคอเลสเตอรอลลดลง ดื่มไวน์ Cannonau ที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์มากกว่าไวน์อื่นๆ ในมื้อเย็น โดยปริมาณที่ดื่มต่อวัน ผู้ชายจะดื่มไม่เกิน 2 แก้ว และผู้หญิงดื่มไม่เกิน 1 แก้ว รวมถึงใช้เวลากินข้าวมื้อละประมาณ 30 นาที เพื่อให้ไม่มีความเร่งรีบ และมีความสุขกับการกินมากที่สุด 

2. ไม่ปล่อยให้ร่างกายอยู่เฉยๆ

การศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของคนในพื้นที่ Blue Zone ได้เผยให้เห็นว่า คนในพื้นที่เหล่านี้ มักมีวิถีชีวิตที่กระตือรือร้น และเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ โดยพวกเขามักทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงงานในชีวิตประจำวัน เช่น ผู้สูงอายุชาวโอกินาวาขยับร่างกายด้วยการทำสวนพืชผักสมุนไพร ชาวซาดิเนีย และชาวโลมา ลินดาที่ชอบเดินออกกำลังกายมากกว่านั่งรถ ผู้สูงอายุชาวนิโคยาที่เดินจ่ายตลาด ผ่าฟืน และทำงานบ้านในทุกวัน เป็นต้น1,2

3. รับแดดบ้าง

คนใน Blue Zone มักใช้เวลาในช่วงกลางวันอยู่กลางแจ้งอย่างสม่ำเสมอ พวกเขามักได้รับแสงแดดที่เพียงพอซึ่งช่วยในการผลิตวิตามินดี และส่งเสริมสุขภาพโดยรวม การสัมผัสแสงแดดในระดับที่เหมาะสม เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้คนในพื้นที่เหล่านี้มีสุขภาพดี และอายุยืนยาว

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ Dr.Greg Plotnikoff ที่ทำงานร่วมกับ Dan Buettner บอกว่า แสงแดดช่วยให้ร่างกายผลิตวิตามินดี ซึ่งมีประโยชน์ในการเสริมสร้างกระดูก และฟันให้แข็งแรง ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยควบคุมการเติบโตของเซลล์ 

หากขาดวิตามินดี อาจส่งผลให้กระดูก และฟันไม่แข็งแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง เสี่ยงต่อการหกล้ม และกระดูกหัก โดยเฉพาะในผู้สูงวัย ที่เมื่อกระดูกสะโพกหัก จะยิ่งทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้น รวมถึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคร้ายหลายชนิด เช่น มะเร็ง ความดันเลือดสูง เบาหวาน และโรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ สำหรับผู้ป่วยโรคไต การขาดวิตามินดีอาจเร่งให้เกิดโรคหัวใจได้2

4. นอนเป็นเวลา

ผลจากการสำรวจวิถีชีวิต และพฤติกรรมการนอนของคนในพื้นที่ Blue Zone พบว่า มีการนอนหลับที่มีคุณภาพ และเพียงพอ เพราะพวกเขามักมีตารางเวลานอนที่สม่ำเสมอ และให้ความสำคัญกับการพักผ่อนอย่างเต็มที่

การนอนหลับที่มีคุณภาพ หมายถึงการเข้านอนตามตารางเวลาที่เหมาะสม เช่น ก่อน 4 ทุ่ม หรือไม่เกินเที่ยงคืน โดยไม่ตื่นกลางดึก และไม่ใช้ยานอนหลับ การหยุดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน 60-90 นาที และหลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีนหลังบ่ายสอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมการนอนหลับที่ดี และต่อเนื่องยิ่งขึ้น5

5. เลี่ยงแอลกอฮอล์และไม่สูบบุหรี่

พฤติกรรมหลักของคนในพื้นที่ Blue Zone มักมีการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และใช้สารเสพติด โดยชาวโลมา ลินดานับถือคริสตจักรเซเวนธ์เดย์แอดเวนีทิสต์ (Seventh-day Adventist Church) ที่มีข้อห้ามด้านการกินอาหารที่เคร่งครัด จึงไม่สูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์1 แต่อาจมีบางที่ อย่างอิคาเรีย และซาร์ดิเนีย ที่ดื่มไวน์เล็กน้อยในระหว่างมื้ออาหาร หรือดื่มฉลองกับเพื่อน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสังคม และช่วยส่งเสริมสุขภาพด้านจิตใจด้วย

6. ตั้งเป้าหมายในการใช้ชีวิต

การใช้ชีวิตของคนในพื้นที่ Blue Zone มักมีเป้าหมาย และความหมายในชีวิตที่ชัดเจน ซึ่งช่วยให้พวกเขามีแรงจูงใจในการดูแลสุขภาพ และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เช่น ทุกเช้าชาวโอกินาวาจะตื่นขึ้นมาพร้อมกับหลักการที่เรียกว่า ‘อิคิไก’ ส่วนชาวนิโคยาเรียกว่า ‘ปลัน เด ปีดา’ หรือเป้าหมายชีวิต2 ซึ่งช่วยกระตุ้นให้พวกเขามีแรงบันดาลใจ และเป้าหมายของตัวเองตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นเพียงแค่เรื่องธรรมดาแต่มีความหมายของแต่ละคน

7. ใช้ชีวิตแบบ Slow Life 

การศึกษาเกี่ยวกับวิถีชีวิตสโลว์ไลฟ์ของชาว Blue Zone เผยให้เห็นว่า คนในพื้นที่เหล่านี้ มักมีการดำเนินชีวิตอย่างช้าๆ และตั้งใจ ให้ความสำคัญในปัจจุบัน ทำให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และมีสุขภาพดี การให้ความสำคัญกับการผ่อนคลาย การมีเวลาอยู่กับครอบครัว และเพื่อนๆ 

หรือการทำกิจกรรม เช่น ผู้สูงอายุในโอกินาวามักละจากงานชั่วครู่ เพื่อมองดูท้องฟ้า ชาวซาร์ดิเนีย พื้นที่ที่นิยมเลี้ยงแกะ มักหยุดมองทุ่งหญ้าเขียวขจีจากบนพื้นที่ราบสูง หรือชาวโลมา ลินดา ที่จะใช้ช่วงเวลาสะบาโตหรือช่วงที่พระอาทิตย์ตกดินวันศุกร์ จนถึงช่วงพระอาทิตย์ตกดินในวันเสาร์ เพื่อการพักผ่อนกับครอบครัว ธรรมชาติ และพระเจ้า2

8. มองโลกในแง่ดี คิดบวกเสมอ 

การศึกษาพฤติกรรม และความคิดของคนใน Blue Zone เผยให้เห็นว่า พวกเขามีทัศนคติที่เป็นบวก และมองโลกในแง่ดี ซึ่งช่วยให้มีชีวิตที่ยืนยาว และเต็มไปด้วยความสุข ซึ่งการดูแลสุขภาพจิตของพวกเขา รวมถึงการไม่เครียด มีอารมณ์ขัน และการอยู่กับปัจจุบัน 

เช่น ชาวซาร์ดิเนียเป็นเจ้าแห่งอารมณ์ขัน แม้จะมีปัญหาในชีวิต พวกเขาก็สามารถมองเป็นเรื่องตลก และพบปะสังสรรค์กันในช่วงบ่าย เพื่อหัวเราะกับมุกตลกอยู่เสมอ หรือผู้สูงอายุในโอกินาวา แม้จะมีชีวิตวัยเด็กที่ยากลำบาก และความทรงจำเลวร้ายจากสงคราม แต่พวกเขามักมีทัศนคติที่จะปล่อยให้อดีตผ่านไป และมีความสุขเรียบง่ายกับปัจจุบันมากกว่า2

9. อยู่ในสังคมที่ไม่ Toxic 

พฤติกรรมการเข้าสังคมของคนใน Blue Zone เผยให้เห็นว่า การมีครอบครัว และเพื่อน ที่สามารถพูดคุยแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญของชีวิต พวกเขามักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ที่ช่วยสร้างความสุข และสุขภาพดี 

เช่น โอกินาวามีประเพณี ‘โมอิ’ หรือการรวมกลุ่มเพื่อพูดคุย และช่วยเหลือกัน ทั้งเรื่องการเงิน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น2 ขณะที่ชาวซาร์ดิเนียมีสถาบันครอบครัวที่แข็งแรง อาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ และให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูหลาน และเหลน ซึ่งช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตมากขึ้นไปอีก1

รวม Channel เรียนรู้วิธีดูแลสุขภาพ

รวม Channel เรียนรู้วิธีดูแลสุขภาพ

นอกจากการศึกษาวิถีชีวิต และพฤติกรรมของคนในพื้นที่ Blue Zone แล้ว เรายังสามารถเรียนรู้วิธีดูแลสุขภาพเพิ่มเติมผ่าน Podcast ที่น่าสนใจ ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจวิธีการ และเคล็ดลับในการรักษาสุขภาพที่ดีจากมุมมองที่หลากหลาย ดังนี้

สุขภาพดี สร้างรายได้ เติมเต็มทุกเป้าหมายชีวิต

สาระสุขเป็นช่องทางที่จะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งสนับสนุนโดย AmwayTH โดยเนื้อหาจากคลิปนี้จะเน้นที่การสร้างชีวิตที่สมดุลและประสบความสำเร็จในทุกด้าน มีหลักการสำคัญที่การดูแลสุขภาพให้ดีเพื่อเพิ่มพลังงานและความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อมีสุขภาพดีแล้วจะช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ซึ่งส่งผลต่อการสร้างรายได้ที่ดี และสุดท้ายคือการบรรลุเป้าหมายชีวิตที่วางไว้จากการดูแลสุขภาพและมีรายได้ดี แนวทางหนึ่งที่สนับสนุนให้ทุกคนมีความสุข

เคล็ดลับสุขภาพดี เริ่มต้นดูแลตัวเองได้ตั้งแต่วันนี้

บำรุงราษฎร์แนะนำวิธีดูแลสุขภาพง่ายๆ โดยเน้นการให้ความสำคัญกับอาหาร และโภชนาการที่ถูกต้อง เช่น ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว เพิ่มผักและผลไม้ในทุกมื้อ กินอาหารตรงเวลา ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในค่า BMI ที่เหมาะสม และตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อป้องกันโรคและดูแลสุขภาพในระยะยาว

เทคนิคดูแลสุขภาพจิตให้แข็งแรงและการป้องกันโรคทางจิตเวช

เทคนิคการดูแลสุขภาพจิตให้แข็งแรง และการป้องกันโรคทางจิตเวช โดย ศ. นพ. มาโนช หล่อตระกูล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ ที่มาแนะนำว่า คนที่มีสุขภาพจิตดีเท่ากับคนที่มีความสุข เมื่อมีปัญหาชีวิตก็สามารถปรับตัวกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ และสามารถเข้ากับคนอื่นๆ ได้ง่าย 

ซึ่งการดูแลสุขภาพจิตที่ดี ประกอบด้วยการจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม เช่น การทำสมาธิ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และการพูดคุยกับคนใกล้ชิด เพื่อระบายความรู้สึก การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการมีกิจกรรมที่สร้างความสุข ก็มีความสำคัญ 

นอกจากนี้ ยังแนะนำการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หากเริ่มมีอาการไม่สบายใจ เพื่อป้องกัน และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางจิตเวชได้

เคล็ดลับสุขภาพดี อายุยืนยาว 100 ปี (แบบไม่ป่วย)

รายการที่ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่รักสุขภาพ และยังไม่ป่วย แต่ต้องการป้องกันโรค โดยเน้นการดูแลสุขภาพจิต และร่างกายควบคู่กัน โดยเริ่มต้นจากการกินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช พร้อมทั้งลดการบริโภคอาหารที่มีไขมัน และน้ำตาลสูง 

นอกจากนี้ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย และลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง การนอนหลับที่ดีเป็นสิ่งสำคัญในการฟื้นฟูร่างกาย และจิตใจ การลดความเครียด การดูแลสุขภาพจิตก็มีผลอย่างมากต่อการรักษาสุขภาพโดยรวม การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง การได้รับแรงสนับสนุนจากครอบครัว และเพื่อนๆ ก็สามารถช่วยให้ชีวิตมีความสุข และลดความเครียดได้อีกด้วย

10 สูตรลับ ที่จะช่วยให้การนอนเป็นเรื่องง่ายขึ้น

หมอแพน Health Hacker นำเสนอ 10 สูตรลับ ตัวช่วยสำหรับคนนอนไม่หลับ เพื่อให้การนอนหลับมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะการนอนหลับส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ซึ่งมีเคล็ดลับคือการตั้งเวลาเข้านอน และตื่นนอนให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน 

หรือการสร้างบรรยากาศที่เหมาะสม เช่น ทำให้ห้องนอนมืด และเงียบ หลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยีก่อนนอน และการทำกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น การอ่านหนังสือ หรือการทำสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายเตรียมพร้อมสำหรับการพักผ่อนยิ่งขึ้น

หลีกเลี่ยงคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ก่อนนอน จัดการกับความเครียดด้วยเทคนิคการผ่อนคลาย ออกกำลังกายเป็นประจำ และระวังการกินมื้อเย็นที่หนักเกินไป หรือกินอาหารที่มีน้ำตาลสูงเกินไป เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนให้ดีขึ้น 

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างกิจวัตรก่อนนอน เช่น การแปรงฟัน และลองใช้เทคนิคการนอน ที่ช่วยให้การนอนหลับสะดวกขึ้น เช่น การใช้หมอนที่รองรับกับสรีระได้ดี เป็นต้น

มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ

Holistic Care หรือการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม หมายถึง การมองสุขภาพในมุมกว้าง โดยไม่เพียงแต่เน้นที่การรักษาอาการ หรือโรค แต่รวมถึงการดูแลทั้งกาย และใจ ให้มีสุขภาพดีอย่างครบถ้วน มุ่งเน้นที่การสร้างสมดุลในชีวิต ซึ่งประกอบไปด้วยการรักษาสุขภาพร่างกาย การจัดการกับความเครียด การดูแลจิตใจ และการมีความสัมพันธ์ที่ดี

ไขความลับอาหารญี่ปุ่น เมนูอายุยืน

รายการ Food Choice กับหมอเอ๋ ผศ. พญ. ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร และหมอตั้ม นพ. ดิษกุล เล่าความลับของอาหารญี่ปุ่น ว่าด้วยเรื่องวัตถุดิบ และการประกอบอาหารสไตล์ญี่ปุ่น ที่ช่วยให้มีสุขภาพดี และอายุยืนเหมือนคนญี่ปุ่น 

อาหารญี่ปุ่นเป็นที่นิยม เนื่องจากความสดใหม่ และการใช้วัตถุดิบที่คงความธรรมชาติ ใช้เครื่องปรุงน้อย แต่ยังคงความอร่อย อีกทั้งอาหารญี่ปุ่นยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนญี่ปุ่นมีอายุยืนยาว

สรุป

Blue Zone คือพื้นที่ที่มีการบันทึกว่ามีประชากรมีอายุยืนยาว และสุขภาพดี พื้นที่เหล่านี้ ได้แก่ โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ซาร์ดิเนีย ประเทศอิตาลี อิคาเรีย ประเทศกรีซ นิโคยา ประเทศคอสตาริกา และโลมา ลินดา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการศึกษาพบว่า คนใน Blue Zone มีลักษณะการใช้ชีวิตที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ และอายุยืนยาว

เคล็ดลับในการดูแลสุขภาพให้ดี และอายุยืน คือการกินอาหารที่ดี มีประโยชน์ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี การฝึกตัวเองให้มีจิตใจที่สงบ และการตั้งเป้าหมายในชีวิต เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันได้ 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. นิตยสาร Trust ฉบับที่ 59 คอลัมน์ Variety.  ไขความลับอายุยืนของชาว “Blue Zones”. tiscowealth.com. Retrieved 2 September 2024.

  2. ธันยพร ห. 8 เคล็ดลับสู่ ‘ขอบฟ้าแห่งอายุร้อยปี’. hhcthailand.com. Published 27 May 2021. Retrieved 2 September 2024.

  3. BLUE ZONES. History of Blue Zones. bluezones.com. Retrieved 2 September 2024.

  4. Post Today. อาหาร การใช้ชีวิต และวัฒนธรรม: ไขความลับอายุยืนจาก 5 Blue Zone ทั่วโลก. posttoday.com. Published 21 March 2024. Retrieved 2 September 2024.

  5. THE SECRET SAUCE. [YouTube Channel] Published 9 June 2024. Retrieved 2 September 2024. From https://www.youtube.com/watch?v=PlJLsNmxyxY 

shop now